ครม.เซตซีโร่รถร่วมขสมก.ยุติสัญญาปี 61

28 ก.ย. 2016 บทความอื่นๆ


นายออมสิน ชีวะพฤกษ์ รมช.คมนาคม เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 27 ก.ย.ที่ผ่านมา ได้เห็นชอบให้ยกเลิกมติ ครม.เดิมเมื่อปี 2526 และ เดินหน้ากระบวนการถ่ายโอนการกำกับรถเอกชนร่วมบริการให้กรมการขนส่งทางบกแทนองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) เพื่อพัฒนางานด้านบริการด้วยรถโดยสารประจำทางทั้งระบบ มาตรการดังกล่าวเป็นไปตามแผนปฏิรูปเส้นทางรถโดยสารประจำทางใน กทม.ให้มีความคล่องตัวมากยิ่งขึ้น โดยตั้งหน่วยงานในระดับกองเพื่อเข้ามาทำหน้าที่กำกับดูแลให้กับกรมการขนส่ง ทางบก ทั้งการออกใบอนุญาตการเดินรถในกรุงเทพฯ และปริมณฑล ตลอดจน ยกระดับงานบริการขนส่งมวลชนให้ดีมากยิ่งขึ้น

ทั้งนี้ จะออกคำสั่งให้การทำสัญญาระหว่างเอกชนและ ขสมก.ต้องยุติภายในปี 2561 ไม่ว่าจะคงเหลือระยะเวลากี่ปีก็ตาม (Set Zero) เพื่อเปิดทางให้กรม การขนส่งเข้ามาดูแลเพียงผู้เดียว โดยเฉพาะการออกใบอนุญาตฉบับใหม่ให้กับผู้ประกอบการในปี 2562 ซึ่งจะพิจารณาอย่างเข้มงวด ทั้งด้านความมั่นคงของ ตัวรถ ระบบการติดตั้งสิ่งอำนวยความสะดวก ตลอดจนมารยาทของบุคลากร ผู้ให้บริการ ส่วนด้านผู้ประกอบการที่มี หนี้สินค้างชาระกับ ขสมก. มีโอกาสสูง ที่จะไม่ได้รับการพิจารณาต่อสัญญาใหม่โดยปัจจุบัน ขสมก.ยังมีสัญญาผูกพัน กับเอกชนทั้งสิ้นราว 111 สัญญา นายสนิท พรหมวงษ์ อธิบดีกรม การขนส่งทางบก กล่าวว่า หลังจากที่มติ ครม.เดิมดังกล่าวยกเลิกไปแล้ว จะทำให้เกิดความชัดเจนในบทบาทและแนวทางกำกับดูแลการเดินรถโดยสารในกรุงเทพ มหานครและปริมณฑล โดยกำหนดให้กรมการขนส่งทางบกเป็นผู้กำกับดูแล (Regulator) และให้ ขสมก.เป็นเพียง ผู้ประกอบการเดินรถ (Operator) รายหนึ่ง ซึ่งจะทำให้เกิดการแข่งขันด้านการให้บริการ

นอกจากนี้ ครม.ยังได้เห็นชอบในหลักการให้มีการปรับแก้กฎหมายเพื่อรองรับการถ่ายโอนดังกล่าว ได้แก่ การแก้ไข พ.ร.บ.การขนส่งทางบก 2522 เกี่ยวกับอายุใบอนุญาตประกอบการขนส่ง แก้ไขกฎกระทรวง เรื่องอัตราค่าธรรมเนียม ใบอนุญาตประกอบการขนส่ง แก้ไขกฎกระทรวงเรื่องหลักเกณฑ์ วิธีการในการออกใบอนุญาตประกอบการขนส่ง และจัดตั้งหน่วยงานใหม่เพื่อมารองรับการดำเนินการตามภารกิจดังกล่าว เพื่อประโยชน์การแข่งขัน เช่น กำหนดโครงข่ายเส้นทางใหม่ จัดสรรเส้นทางการเดินรถตามโครงข่ายใหม่ กำหนดเงื่อนไขขอรับใบอนุญาต การคัดเลือกผู้ประกอบการ ที่มีคุณภาพ จนกระทั่งสามารถออกใบอนุญาตประกอบการขนส่งใหม่

"แผนปฏิรูประบบรถโดยสารประจำทางจะแก้ไขปัญหาในปัจจุบันที่มีเส้นทางทับซ้อนและไม่ครอบคลุม ให้สามารถตอบสนองความต้องการเดินทางของประชาชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยจะออกแบบเส้นทางเดินรถซึ่งจะลดการทับซ้อนของเส้นทาง และปรับปรุงเส้นทางให้เชื่อมต่อกับระบบขนส่งมวลชนประเภทอื่นๆ เช่น โครงข่ายรถไฟฟ้า ระบบราง การสัญจรทางน้ำ" นายสนิท กล่าว

ที่มา: โพสต์ทูเดย์
อ่านข่าวเกี่ยวกับอสังหาฯ ทั้งหมดเพิ่มเติมได้ที่ : https://www.plus.co.th/ข่าว-และ-บทความ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง:

เรื่องเด่นน่าสนใจ