รื้อใหญ่ แอร์พอร์ตลิงก์ ยุบรถด่วน-แจกสัมปทานเอกชน

05 พ.ย. 2016 บทความอื่นๆ


ในช่วงบริการเรียกว่ามีปัญหาและอุปสรรครุมเร้าเขย่าขวัญโครงการมากมาย จนถึงวันนี้ปัญหาต่าง ๆ จะได้รับการสะสางไปบ้างแล้ว แต่ยังมีตกค้างให้แก้ปมกันต่อไปไม่มีที่สิ้นสุด แม้ว่าการบริหารจัดการจะแยกอิสระออกจาก "ร.ฟ.ท.-การรถไฟแห่งประเทศไทย" เป็นที่เรียบร้อยแล้วก็ตาม แต่ด้วยภาระหนี้ติดตัวมาแต่แรกเริ่ม ทำให้รถไฟฟ้าสายนี้ต้องปรับตัวแบบ 360 องศา

แยกบริษัทออกจากรถไฟ
แหล่งข่าวจาก ร.ฟ.ท. กล่าวว่า เป็นที่แน่ชัดแล้วว่าคณะกรรมการกำกับนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) หรือซูเปอร์บอร์ด จะแยกบริษัทแอร์พอร์ตลิงก์ออกจากการเป็นบริษัทลูก ร.ฟ.ท.เพื่อให้การบริหารงานคล่องตัวมากขึ้น ในอนาคตอาจจะต้องให้เอกชนที่มีประสบการณ์ด้านรถไฟฟ้าเข้ามาบริหารแทน เพราะจะมีการก่อสร้างแอร์พอร์ตลิงก์ส่วนต่อขยายพญาไท-ดอนเมืองที่รัฐบาลกำลังเร่งรัดให้เอกชนเข้าร่วมโครงการซึ่งเอกชนรายใหม่ที่ได้โครงการไปจะต้องรับโอนพนักงานเดิมมีอยู่500คนไปด้วย "แอร์พอร์ตลิงก์ต้องจัดการองค์กรใหม่ทั้งระบบปรับโครงสร้างทางการเงินและการถ่ายโอนสินทรัพย์ระหว่างการรถไฟฯ เป็นองค์กรแม่ และแอร์พอร์ตลิงก์ ตอนนี้อยู่ระหว่างแบ่งแยกทรัพย์สิน เมื่อได้ข้อสรุปแล้วทางคลังถึงจะเพิ่มทุนให้ 1,860 ล้านบาท ซึ่งเงินทุนหมุนเวียนตอนนี้ก็ใช้ค่าจ้างเดินรถที่รถไฟจ่ายเป็นรายปี 320 ล้านบาท" แหล่งข่าวกล่าวว่า สำหรับรายละเอียดทรัพย์สินประกอบด้วย สินทรัพย์ที่เป็นโครงสร้างพื้นฐานมูลค่า 18,318 ล้านบาท และสินทรัพย์ที่เป็นงานระบบ มูลค่า 15,094 ล้านบาท เช่น ระบบอาณัติสัญญาณ ไฟฟ้า โทรคมนาคม รถไฟฟ้า เครื่องจักรกล เป็นต้น

โยนรัฐรับหนี้โครงสร้างโยธา
"ทางศศินทร์ฯที่รถไฟจ้างศึกษา เสนอแนะให้โอนทรัพย์สินที่เป็นงานระบบมาอยู่กับบริษัทแอร์พอร์ตลิงก์ ส่วนภาระหนี้โครงสร้างพื้นฐานให้รัฐรับภาระแทน ส่วนที่ดินจะให้บริษัทเช่าในราคาถูกถึงจะอยู่ได้ เพื่อสร้างรายได้เสริมนอกเหนือจากค่าโดยสารที่จัดเก็บอยู่ปีละ 600 ล้านบาท" สำหรับงานระบบที่บริษัทต้องรับภาระหนี้กว่า 15,094 ล้านบาท เมื่อหักค่าเสื่อมแล้วจะเหลือ 11,705 ล้านบาท ในจำนวนนี้บริษัทรับภาระกว่า 6,350 ล้านบาท ส่วนที่เหลือให้กระทรวงการคลังแปลงเป็นทุนให้บริษัทเพื่อนำเงินมาดำเนินการบริษัทต่อไป

รอเงินทุนหมุนเวียน1.8พันล้าน
นอกจากนี้จะต้องหาเงินกู้ให้บริษัทในอนาคตใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนจำนวน1,860ล้านบาท และค่าซื้อรถไฟฟ้าใหม่จำนวน 7 ขบวน กว่า 4,000 ล้านบาท รวมเบ็ดเสร็จภายหลังการโอนทรัพย์สินและแยกองค์กรออกมาแล้ว บริษัทจะต้องมีภาระหนี้ประมาณ 18,765 ล้านบาท ภายใน 20 ปี และจากประมาณการผลดำเนินงานยังขาดทุน กระแสเงินสดอยู่ 7-8 ปี แต่จะไม่เป็นภาระให้กับกระทรวงการคลัง "ตามโมเดลนี้แอร์พอร์ตลิงก์จะเป็นบริษัทจำกัด มีสถานะเป็นรัฐวิสาหกิจ ดำเนินงานภายใต้สังกัดกระทรวงคมนาคม แต่กระทรวงการคลังจะเข้ามาถือหุ้นในบริษัทไม่น้อยกว่า 75% เพื่อให้มีอำนาจบริหารเบ็ดเสร็จ ส่วน 25% ที่เหลือจะให้การรถไฟฯถือหุ้น"

แปลงโฉมรถด่วนเพิ่มที่นั่ง
ด้าน "ออมสิน ชีวะพฤกษ์" รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า บริษัทแอร์พอร์ตลิงก์นำรถไฟฟ้าขบวนด่วน (Express Line) 4 ขบวน 12 ตู้ ปรับโฉมใหม่เป็นแบบรถไฟฟ้าธรรมดา (City Line) ใช้เงินดำเนินการ 22 ล้านบาท หรือเฉลี่ยขบวนละ 5.5 ล้านบาท จะทยอยปรับจนครบในเดือน ธ.ค.นี้ โดยจะรองรับผู้โดยสารจากเดิม 340 คน/ขบวน เป็น 740 คน/ขบวน หรือจาก 61,500 คน/วัน เป็น 72,000 คน/วัน เนื่องจากปัจจุบันมีผู้โดยสารใช้บริการรถไฟธรรมดาจำนวนมาก ทางแอร์พอร์ตลิงก์จึงยุติการให้บริการรถด่วนรองรับกับการบริการตรงนี้แทน "ปรับอุปกรณ์ภายในใหม่ ไม่ว่าเก้าอี้นั่ง ราวจับ วัสดุปูพื้น ย้ายที่ตั้งถังดับเพลิง เพิ่มพื้นที่ยึดสำหรับรถวีลแชร์ จะทำให้มีรถที่ให้บริการมากขึ้น จากปัจจุบันมี 8 ขบวน ซึ่งขบวนที่ 9 อยู่ระหว่างซ่อม คาดว่าจะนำมาใช้ได้ ก.พ. 60 รวมทั้งได้ให้เพิ่มความถี่การวิ่งจาก 12 นาที/ขบวน เป็น 10 นาที/ขบวน จะเริ่ม.ค. 60" นายออมสินกล่าวและว่า

เตรียมซ่อมบำรุงครั้งใหญ่
นอกจากนี้ การซ่อมบำรุง (Overhaul) ได้ตัวบริษัทมาดำเนินการแล้ว คือ กิจการร่วมค้า ณิบทีเอ็มที จากประเทศมาเลเซีย วงเงิน 262 ล้านบาท จะเซ็นสัญญาเร็ว ๆ นี้ จะใช้เวลาเตรียมอะไหล่ 6 เดือน จากนั้นเริ่มดำเนินการในเดือน พ.ค. 60 ใช้เวลาซ่อมเดือนละ 1 ขบวน เพื่อไม่ให้ประชาชนได้รับผลกระทบจนครบ 9 ขบวนในเดือน ม.ค. 2561 ขณะเดียวกัน ได้เร่งจัดซื้อรถใหม่ 7 ขบวน นายประเสริฐ อัตตะนันทน์ รองผู้ว่าการ ร.ฟ.ท. ในฐานะกรรมการและรักษาการกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. จำกัด กล่าวว่า การจัดซื้อรถใหม่ 7 ขบวน วงเงินกว่า 4,400 ล้านบาท ขณะนี้ทางแอร์พอร์ตลิงก์กำลังจ้างที่ปรึกษาเพื่อตรวจสอบรายละเอียดเอกสารประกวดราคา คาดว่าภายในเดือน ธ.ค.นี้จะส่งเอกสารไปยัง ร.ฟ.ท. เพื่อเปิดประมูลต่อไป เนื่องจากเป็นอำนาจหน้าที่ของ ร.ฟ.ท. คาดว่าจะสามารถออกประกวดราคาได้เดือน มี.ค. 2560 จะใช้เวลาผลิตรถ 2 ปี เท่ากับจะมีรถใหม่มาวิ่งบริการในปลายปี 2562 หรือต้นปี 2563 "ส่วนต่อขยายแอร์พอร์ตลิงก์เชื่อมพญาไท-ดอนเมือง ยังติดพื้นที่ทับซ้อนกับรถไฟไทย-จีน-ญี่ปุ่น ทางรถไฟเสนอสร้างช่วงพญาไท-บางซื่อเป็นลำดับแรกก่อนไปยังสภาพัฒน์ แต่ไม่ได้รับการอนุมัติ โดยให้ลงทุนทั้งโครงการ ขณะนี้จึงต้องรอแบบรายละเอียดรถไฟไทย-จีน-ญี่ปุ่นนิ่งก่อน"

คนใช้เพิ่มปีละ 10%
รศ.ดร.เสาวณีย์ ไทยรุ่งโรจน์ ประธานคณะกรรมการ (บอร์ด) บริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. จำกัดกล่าวว่า ปี 2559 บริษัทมีกำไร 590 ล้านบาท โดยรายได้ ณ เดือน ก.ค.ที่ผ่านมามีรายได้ 360 ล้านบาท ส่วนปริมาณผู้โดยสารเพิ่มขึ้นปีละ 10% ปัจจุบันมีผู้โดยสารที่ใช้บริการเฉลี่ย 60,000 เที่ยวคน/วัน ปีหน้าคาดว่าจะมีผู้โดยสารที่ใช้บริการเพิ่ม 6,000 คน เป็น 66,000 เที่ยวคน/วัน

ที่มา: ประชาชาติธุรกิจ
อ่านข่าวเกี่ยวกับอสังหาฯ ทั้งหมดเพิ่มเติมได้ที่ : ข่าวทั้งหมด

ข่าวที่เกี่ยวข้อง:

เรื่องเด่นน่าสนใจ