ดึงเซ็นทรัล-เดอะมอลล์-ปตท.จุดพลุมอเตอร์เวย์

นายธานินทร์ สมบูรณ์ อธิบดีกรมทางหลวง (ทล.) เปิดเผยว่า หลังจากปีที่แล้วเดินหน้าก่อสร้างมอเตอร์เวย์ 3 สายใหม่ ขณะนี้มีผลงานคืบหน้าไปด้วยดี ประกอบด้วย สายพัทยา-มาบตาพุด ระยะทาง 32 กม. วงเงิน 17,819 ล้านบาท แบ่งงานก่อสร้าง 13 ตอน มีความคืบหน้า 24.52% ส่วนงานระบบเก็บค่าผ่านทาง ระบบควบคุมจราจร และด่านชั่งน้ำหนักจะเริ่มในปี 2561 ซึ่งกรมเป็นผู้ดำเนินการเอง จะแล้วเสร็จเปิดให้บริการปี 2562
สายบางปะอิน-นครราชสีมา ระยะทาง 196 กม. ค่าก่อสร้าง 57,471 ล้านบาท แบ่งงานก่อสร้าง 40 ตอน เซ็นสัญญาแล้ว 25 ตอน อีก 15 ตอนได้ตัวผู้รับเหมาครบแล้วเตรียมเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติวันที่ 14 มี.ค.นี้ จำนวน 12 ตอน อีก 3 ตอนรอสำนักงบประมาณอนุมัติและปรับแบบ ปัจจุบันงานก่อสร้างคืบหน้าแล้ว 25% ส่วนบางใหญ่-กาญจนบุรี ระยะทาง 96 กม. ค่าก่อสร้าง 49,120 ล้านบาท แบ่งงานก่อสร้างเป็น 25 ตอน เซ็นสัญญาแล้ว 19 ตอน ที่เหลือ 6 ตอนจะเซ็นสัญญาเดือน มี.ค.นี้ 5 ตอน อีก 1 ตอน อยู่ในกระบวนการจัดซื้อจัดจ้าง
"ทั้ง 2 สายจะเซ็นสัญญาให้ครบทุกตอนภายในวันที่ 31 มี.ค.นี้ เพื่อเร่งการเบิกจ่ายตามที่รัฐมีนโยบาย ซึ่งงานก่อสร้างของ 2 สาย มีกำหนดแล้วเสร็จปี"62 เปิดใช้ปี"63 พร้อมกับงานติดตั้งระบบ"
สำหรับงานระบบบริหารและซ่อมบำรุง (O&M) ระยะเวลา 30 ปี ทั้ง 2 สาย คาดว่าใช้เงินลงทุน 13,000 ล้านบาท แยกเป็นบางปะอิน-นครราชสีมา 7,000 ล้านบาท และบางใหญ่-กาญจนบุรี 6,000 ล้านบาท แต่เนื่องจากเป็นโครงการที่มีเกิน 5,000 ล้านบาท จึงต้องเสนอคณะกรรมการกำกับการจัดซื้อจัดจ้าง (ซูเปอร์บอร์ด) พิจารณาเพื่อให้เกิดความโปร่งใส และเปิดประมูลแบบนานาชาติให้บริษัทต่างชาติที่เชี่ยวชาญด้านระบบเก็บค่าผ่านทางเข้าร่วมแข่งขันด้วย
"กรมจะส่งจดหมายเชิญบริษัทต่างชาติทำระบบมอเตอร์เวย์เช่นญี่ปุ่น เกาหลี ฝรั่งเศส และเยอรมนี เข้าร่วมประมูลในลักษณะร่วมทุนกับบริษัทไทย เป็นการปรับแผนใหม่ จากเดิมที่จะเปิดให้เอกชนไทยร่วมประมูลแบบ PPP Gross Cost คาดว่าจะเสนอกระทรวงคมนาคมเดือน มี.ค.นี้ จากนั้นจะเสนอคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) ต่อไป และเปิดประมูลได้ภายในปีนี้หรืออย่างช้าต้นปีหน้า" นายธานินทร์กล่าวและว่า
ขณะที่การพัฒนาที่พักริมทาง จะแบ่ง 2 สัญญา คือ ขาเข้า 1 สัญญา และขาออก 1 สัญญา เพื่อให้เอกชนที่สนใจร่วมประมูล โดยเอกชน 1 รายจะได้สิทธิพัฒนาพื้นที่ 1 สัญญา จะเชิญผู้ประกอบการรายใหญ่ เช่น กลุ่มเซ็นทรัล กลุ่มเดอะมอลล์ และ ปตท. คาดว่าจะเริ่มดำเนินการปี 2561
รูปแบบการพัฒนามี 3 ประเภท ได้แก่ ที่พักริมทางหลวง (Rest Area) ขนาด 15 ไร่ สถานที่บริการทางหลวง (Service Area) ขนาด 20 ไร่ และศูนย์บริการทางหลวง (Service Center) ขนาด 50 ไร่ จะเปิดให้เอกชนพัฒนาโครงการรูปแบบ PPP ระยะเวลา 20-30 ปี ลงทุน 300-400 ล้านบาท/แห่ง
ซึ่งพัทยา-มาบตาพุด มีสถานที่บริการทางหลวง 2 แห่ง จะเปิดประมูลเร็ว ๆ นี้ สายบางปะอิน-โคราช มี 8 แห่ง เป็นที่พักริมทาง 5 แห่ง ที่วังน้อย หนองแค ทับกวาง ปากช่อง และสูงเนิน, สถานที่บริการทางหลวง 2 แห่ง ที่สระบุรีและสีคิ้ว และศูนย์บริการทางหลวง 1 แห่ง ที่ปากช่อง จะเป็นพื้นที่ใหญ่สุด 50 ไร่ และบางใหญ่-กาญจนบุรี มี 6 จุด ที่ อ.นครชัยศรี 2 จุด อ.เมืองนครปฐม 2 จุด และ อ.ท่ามะกา 2 จุด
ขณะเดียวกันกรมได้แก้ปัญหาค่าเวนคืนบางใหญ่-กาญจนบุรี เพิ่มจาก 5,420 ล้านบาท เป็น 13,000 ล้านบาท จะเสนอ ครม. ขอใช้งบฯเหลือจากประมูลมอเตอร์ 2 สายประหยัดได้ 13,000 ล้านบาทมาจ่าย พร้อมโยกงบฯปี 2560 จำนวน 1,000 ล้านบาท ของโครงการขยาย 4 ช่องจราจรช่วงหล่มสัก-น้ำหนาว-คลองสาน ประมาณ 65-66 กม. ซึ่งชะลอไปเพราะแนวตัดผ่านพื้นที่อุทยานน้ำหนาว มาเป็นค่าก่อสร้าง 3 สัญญาที่เหลือด้วย
ที่มา: ประชาชาติธุรกิจ
อ่านข่าวเกี่ยวกับอสังหาฯ ทั้งหมดเพิ่มเติมได้ที่ : ข่าวสารและความเคลื่อนไหว